กลุ่มอาชีพ

กลุ่มอาชีพที่สำคัญ ของชาวบ้านดอนคามีหลากหลายอาชีพ

ส่วนอาชีพหลักได้แก่การการเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน ค้าขาย กลุ่มทำผลิตภัณฑ์จากไม้

อาชีพเสริม ได้แก่ เย็บผ้า จักสาน แคนประยุกต์ รับจ้าง เป็นต้น

วงแคนประยุกต์
บ้านดอนคาเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในเรื่องวงแคนประยุกต์ มีมากกว่า 10 คณะ วงเดอะปู เป็นวงแรกที่ก่อตั้งขึ้นในตำบลดอนคา โดยเจ้าอาวาสจัดให้มีการฉลองลานตากข้าว ประมาณ พ.ศ. 2530 โดยมีกลองสองหน้า ฉิ่ง ฉาบ แคน กลับ เพื่อเป็นการสนุกสนานเท่านั้น ต่อมาจึงเป็นที่นิยมในหมู่บ้าน และได้มีการพัฒนา นำดนตรีสากลเข้ามาร่วมบรรเลง จึงก่อเป็นจุดกำเนิดของวงดนตรีบ้านดอนคา และต่อมาก็ได้มีคณะอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น วงซุปเปอร์เหงี่ยม วงเสียงแคนบ้านนา วงท็อปฮิต วงเพชรดอนคา วงหนุ่มหมอแคน วงมนต์รักลูกทุ่ง วงลูกทุ่งรุ่งทิวา วงเพชรพลังหนุ่ม วงเพชรโภคาราม วงสกาวรัตน์ วงเพชรเสียงทอง วงดนตรีพาราไดซ์ วงดนตรีแก็งค์มิวสิค วงดนตรีสิทธิชัย แตรวง โอ.เค 91 เป็นต้น
การทำน้ำตาลจากมะพร้าว
เป็นผลิตผลจากสวนเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ทางราชการเข้ามาให้ความรู้ในการบริหารจัดการ มีการนำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวมาแปรรูปเป็นสินค้า เช่น น้ำตาลมะพร้าว วุ้นมะพร้าว น้ำมะพร้าว น้ำตาลสด เป็นต้น ปัจจุบันมีนายมนตรี หงษ์เวียงจันทร์ เป็นหัวหน้ากลุ่ม ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๔ ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง
กลุ่มทอผ้ามัดหมี่
ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ บ้านใหม่ ตำบลดอนคา กลุ่มทอผ้ามัดหมี่นี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถในการทอผ้า มีนางสาคร จูมพรม เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกทอผ้าทั้งสิ้น ๗๕ คน สินค้าที่ทำขึ้นจะมีผู้มาขอซื้อที่ร้านค้าของกลุ่ม มีหน่วยงานของราชการมาติดต่อให้นำสินค้าไปออกร้านในเทศกาลต่างๆ อยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ กลุ่มทอผ้ายังเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เข้าไปสอนให้ความรู้แก่นักเรียนในสถานศึกษาอีกด้วย
กลุ่มเย็บมุ้ง
อยู่ที่ หมู่ ๓ บ้านใหม่ ตำบลดอนคา ดำเนินการมาแล้ว ๑๖ ปี มีนางปัง มาตรศรี เป็นหัวหน้ากลุ่ม มีสมาชิก ๓๐ คน ขั้นตอนในการ เย็บมุ้ง ทางกลุ่มจะซื้อผ้ามาจากกรุงเทพฯ และนำมาวัดเป็นขนาดตัดเย็บ บรรจุถุงส่งขายปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเย็บมุ้ง มีวางขายโดยทั่วไปในท้องตลาดและสามารถหาซื้อได้ที่ร้านค้าของกลุ่ม
กลุ่มทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้
ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๒ เป็นกลุ่มอาชีพที่ทำเครื่องใช้จากไม้
เช่น เก้าอี้ โต๊ะเครื่องจักสาน ชั้นวางของ โซฟา ม้านั่ง ตะกร้า กระเป๋า ฯลฯ
กลุ่มทำปลาร้า
ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๓ บ้านใหม่ มีสมาชิก ๑๐ คน ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มมา ๑๐ ปีแล้ว มีนางบุญเลิศ หงษ์เวียงจันทร์ เป็นประธานกลุ่ม โทร. ๐-๓๕๔๒-๑๖๑๒ ปลาร้าที่จัดทำขึ้นได้จากปลาตามหนองคลองบึงที่ซื้อมาจากชาวบ้าน ขั้นตอนในการทำปลาร้า ต้องนำมาทำความสะอาดแล้วล้างหมักเกลือประมาณ ๒ – ๓ วัน ผสมกับรำข้าวหมัดใส่โอ่ง ประมาณ ๖ – ๗ เดือน จึงนำออกมาจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป และสามารถสั่งซื้อได้ที่ร้านของทางกลุ่มจัดตั้งไว้ที่บ้านของ นางบุญเลิศ หงษ์เวียงจันทร์
หมอสู่ขวัญ
นายกุล หมวดแก้ว เริ่มเป็นหมอสู่ขวัญลาวเวียงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ รวมระยะเวลา ๒๓ ปีแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับโล่เกียรติคุณ สาขาวรรณศิลป์ประเภทร้อยกรองพื้นบ้าน จากสภาวัฒนธรรมอำเภออู่ทองปัจจุบัน นายกุล หมวดแก้ว เป็นพนักงานตัวแทนของบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต และเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่บ้านเลขที่ ๖๙ หมู่ที่ ๖
การทำม้าแห่นาค
มีนายน้อย หงษ์เวียงจันทร์ ปัจจุบันอายุ ๘๓ ปี อยู่ที่บ้านโนนก่าม หมู่ที่ ๖ ซึ่งแต่เดิมนายน้อยมีอาชีพทำนา เมื่ออายุ ๔๕ ปี ได้ทำม้าแห่นาคขึ้นเพื่อใช้แห่นาคบุตรชาย หลังจากนั้นก็มีผู้อื่นได้มาขอยืมไปใช้อยู่เป็นประจำ นับเป็นเวลากว่า ๓๐ ปีกว่าแล้ว และตั้งใจว่าจะทำต่อไปเพื่ออนุรักษ์ศิลปะการทำม้าแห่นาคนี้ไว้ไม่ให้สูญหาย
การทำม้าแห่นาคนี้คนที่ทำร่วมกับลุงน้อยจะมีลูกหลานร่วมอีก ๔ – ๕ คน อุปกรณ์ที่ใช้ก็คือ ไม้ไผ่ หญ้าแฝก กระดาษสี ดอกไม้ พวงมาลัย สำหรับประดับตกแต่งและผ้าสีโจงกระเบน
วิธีการทำจะเริ่มด้วยการนำไม้ไผ่มาทำเป็นโครงสร้างและใช้หญ้าแฝกมัดเป็นรูปม้า และหุ้มด้วยผ้าประดับด้วยพวงมาลัยให้สวยงาม
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ผู้ใหญ่กุล หมวดแก้ว
กลุ่มอาชีพจักสาน
อยู่ที่บ้านดอนคา หมู่ที่ ๒ ตำบลดอนคา มีนายนิล หงษ์เวียงจันทร์ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มขึ้นมา มีสมาชิก ๗ คน ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์ในการจักสานไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีการนำแสดงออกร้านและจำหน่ายตามร้านค้าโดยทั่วไป เป็นเครื่องจักสานโดยทั่วไป ประเภทหวาย ไม้ไผ่ หรือวัสดุต่างๆ ตามที่ตลาดต้องการ