บุคคลสำคัญด้านศาสนา

บุคคลสำคัญด้านศาสนา

เมื่อผู้คนอพยพย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนมาตั้งมั่นอยู่ ณ หมู่บ้านดอนคาแห่งนี้ ซึ่งราษฎรทุกคนในสมัยนั้นนับถือพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข "วัดดอนคา" กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการตั้งหมู่บ้าน สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุเก่าแก่ประมาณ ๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว โดยมีหลวงพ่อธรรมเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ท่านเป็นบุตรของ พ่อคุณหงษ์ สถานที่ตั้งวัดในอดีตนั้นอยู่บริเวณตลาดวัดเก่ามีแม่น้ำไหลผ่าน ทำให้การเดินทางของผู้คนในสมัยนั้นสะดวกสบายในการติดต่อค้าขาย และไปมาหาสู่กัน หลวงพ่อธรรม ได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวพุทธ เป็นผู้วางรากฐานการปฏิบัติตนที่ดีตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแก่ชาวบ้านดอนคา
เจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ คือ หลวงพ่อคง เนื่องจากวัดดอนคาเดิมอยู่ติดแม่น้ำและมีสถานที่ คับแคบไม่สามารถขยายขอบเขตของวัดเพื่อก่อสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์วัดให้เพียงพอต้อนรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ ถึงฤดูเข้าพรรษาไม่สามารถมาลงปาฏิโมกข์เพราะต้องข้ามน้ำ ไปลงที่สินน้ำสระใหญ่วัดโภคารามในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้ทำการย้ายกุฏิจากวัดเก่ามาอยู่ที่วัดโภคารามในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้ประกอบพิธีฝังลูกนิมิตอุโบสถหลังแรกหลังเก่า หลวงพ่อคงได้ทำนุบำรุงวัดโภคารามจนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขทุกครัวเรือน
เจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ หลวงพ่อเหมือน ปิติธม.โม ท่านเป็นหมอยาประจำหมู่บ้านใครเจ็บไข้ได้ป่วยจะทำการรักษาให้และได้สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาให้ใช้สูตรคิดหาพื้นที่ไร่ที่นา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงพ่อเหมือนพร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ ชาวบ้านดอนคา ได้นำเกวียนไปอัญเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วัดหัวตาหนู อยู่เหนือวัดตีนเป็ดมาประดิษฐานที่เหนืออุโบสถ วัดโภคาราม ชาวบ้านเรียกขาน "หลวงพ่อพระใหญ่" เนื่องจากในสมัยนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตเหนืออำเภออู่ทองขึ้นมา หลวงพ่อพระใหญ่เป็นพระพุทธรูปที่มีบารมีแก่กล้าเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่บุคคลทั้งหลาย ใครมีทุกข์มีร้อนอันใดมาขอพรจากทาน ท่านจะโปรดประทานพรให้กับทุกคนได้รับความสำเร็จสมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ
ในกาลต่อมาพระอาจารย์อุ่นเป็นลูกศิษย์ที่หลวงพ่อเหมือนส่งไปเรียนธรรมะที่วัดบ้านเก่า อ. บางปลาม้า เรียนจบแล้วกลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดโภคาราม หลวงพ่อเหมือนจึงลาญาติโยมชาวบ้านดอนคามาอยู่ที่บ้านหนองหมี จากนั้นจึงเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วไปจำพรรษาอยู่ที่เขาหน่อนาหุบ จ.นครสวรรค์
เจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ คือ พระอธิการอุ่น อินทโชโต เป็นบุตรของ นายเฮ้า - นางเสาร์ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดโภคารามต่อมานานหลายปี แล้วจึงลาสิกขา
เจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ คือ หลวงพ่อเพ็ง ปุญญมโณ บุตรนายฐา นางดา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ หลังพระอาจารย์อุ่นลาสิกขาแล้วญาติโยมทั้งหลายจึงได้แต่งตั้ง หลวงพ่อเพ็งขึ้นเป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อมา ท่านเรียนคาถา เรื่องตะกรุดยาวเท่าอก ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้นำพาชาวบ้านร่วมกันสร้างศาลาการเปรียญขึ้น ๑ หลัง ท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดมาอีกนานหลายปี จึงได้มรณะภาพในปี พ.ศ. ๒๔๙๓
เจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ คือ หลวงพ่อเหมือน ปิติธมโม หลังจากหลวงพ่อเพ็งมรณะภาพแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ชาวบ้านดอนคาได้ไปนิมนต์หลวงพ่อเหมือนที่วัดเขาหน่อนาหุบให้มาอยู่จำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดโภคาราม ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ชาวบ้านดอนคาได้ร่วมกันจัดซื้อเครื่องไฟยี่ห้อ "โอแนน" เครื่องขยายฮอร์น อาร์ ซี เอ (RCA) ปิคอั๊บการ์ราส ไมค์ชัวร์ ถวายไว้เป็นสมบัติของวัด ท่านได้มรณะภาพในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ จากนั้นวัดโภคารามได้ว่างเว้นเจ้าอาวาส ปกครองวัด
เจ้าอาวาสองค์ที่ ๗ คือ พระครูศุภการโกศล ( เงิน สุภวโร ) บุตรนายอ้ม-นางพลอย เป็นบุตรชายคนโต ท่านอุปสมบทตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วไปจำพรรษาอยู่วัดทางภาคอีสานอยู่ ๒ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ชาวบ้านจึงไปนิมนต์ให้ท่านกลับมาเป็นสมภารที่วัดโภคาราม จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๖ ตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อเงินได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้บริหารปกครองวัดโภคารามด้วยดีตลอดมา ท่านได้วางกฎระเบียบ แบบแผน การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม อบรมสั่งสอนบุตรหลานให้เป็นคนดีของหมู่บ้านชุมชน นอกจากหลวงพ่อเงินยังได้นำพาพุทธบริษัททั้งหลายร่วมกันจัดสร้างถาวรวัตถุ บูรณปฏิสังขรณ์ รวมทั้งได้จัดสร้างอุโบสถขึ้น วันเสาร์ที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ จนสำเร็จพร้อมทั้งได้ประกอบพิธีจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิตขึ้น เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๑๔ ถึง วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๔ ฝังลูกนิมิตได้เงิน ๕๒๓,๐๖๓ บาท และท่านได้มรณะภาพลงวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖
เจ้าอาวาสองค์ที่ ๘ คือ พระครูกิตติสุวรรณวัฒน์ (พ.ศ. ๒๕๒๑ - ปัจจุบัน) บุตรชายคนที่ ๑ ของคุณพ่อเลี่ยม - คุณแม่ทำ นนท์ช้าง บวชครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ลาสิกขาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เมื่อหลวงพ่อเงินมรณะภาพ จึงกลับมาอุปสมบทใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ จนถึงปัจจุบันได้บูรณะปฏิสังขรณ์ ก่อสร้างถาวรวัตถุขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก บนเนื้อที่ ๑๖ ไร่ โดยยึดหลักตามแนวทางที่หลวงพ่อเงินวางไว้ให้ ทำให้วัดโภคาราม (ดอนคา) เจริญรุ่งเรือง ดังเช่นทุกวันนี้