ประวัติบ้านดอนคา

ตาหงษ์จากเวียงจันทร์ แกด้นดั้นจากแดนไกล
พบแหล่งศิวิไลซ์ ธรรมชาติสะอาดตา
เป็นที่ดอนโดดเด่น ถูกซ่อนเร้นด้วยหญ้าคา
ชาวลาวร่วมใจมา ตั้งถิ่นฐานและบ้านเรือน
ตั้งชื่อ “ดอนคา” ไว้ คนทั่วไปไม่ลืมเลือน
ทำไร่ ทำนาเหมือน ร่วมพวกพ้องพี่น้องไทย

เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของตำบลดอนคานั้น จากกาพย์ญาณี ๑๑ ดังกล่าวข้างต้น
ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างบ้านแปงเฮือนของคนเฒ่าคนแก่
ตั้งแต่เริ่มตั้งถิ่นฐานในระยะเริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน…

         ซึ่งเล่าว่าในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์ จากนครเวียงจันทร์ คิดกบฏต่อแผ่นดินตั้งตนเป็นใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ไปปราบปรามที่ทุ่งสัมฤทธิ์ และได้กวาดต้อนผู้คนชาวลาวมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน แถบจังหวัดลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ฯลฯ การอพยพย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนนั้น ได้กระทำกันเป็นระยะ ๆ ติดต่อกันเรื่อยมา จนเกิดเป็นตำนานเล่าขานกันมาถึงบรรพบุรุษของบ้านดอนคาแห่งนี้

         จากอดีตกาลนั้น เล่าว่าพ่อคุณหงษ์ – แม่คุณอ่ำ พ่อคุณผา – แม่คุณชา พ่อคุณเหม – พ่อคุณปลัด ได้นำพาลูกหลาน ช้างม้า วัวควาย มาตั้งถิ่นฐาน ณ หมู่บ้านสมอลม ต.ตลิ่งชัน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ในปัจจุบัน เพราะภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์ดี เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง กาลต่อมาชุมชนแห่งนี้ได้ถูกพวกเขมรรังแก รบกวนให้อยู่ไม่เป็นสุข ด้วยความรักอิสระ มุ่งมั่นที่จะอยู่อย่างสงบ จึงได้ชักชวนลูกหลาน อพยพถอยร่นลงมาเพื่อหาแหล่งที่ทำกินใหม่โดยแยกออกเป็น ๒ สาย ได้แก่
สายที่ ๑ ได้แยกย้ายไปอยู่ทางจังหวัดจันทบุรี
สายที่ ๒ พ่อคุณหงษ์ – แม่คุณอ่ำ พร้อมด้วยลูกหลาน ได้อพยพ ช้างมา วัวควาย มาทางอำเภอจรเข้สามพัน ณ หมู่บ้านดอนคาแห่งนี้ เนื่องจากมีพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จึงได้จับจองพื้นที่แบ่งปันกันทำมาหากินเรื่อยมา บางส่วนก็แยกย้ายไปอยู่ตำบลบางพลับ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

          โดยพ่อคุณหงษ์ ได้เดินทางมาเห็นดอนหญ้าคาปัจจุบันเรียกว่า “โนนบ้านเก่า” ที่บ้านนายหมิน – นางนวม จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่น เพราะมองเห็นหนองปล้อง และรางคักเค้ามีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดี เหมาะแก่การเพาะปลูกทำการเกษตร

          กาลต่อมาจึงย้ายหมู่บ้านเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ด้านทิศตะวันออกวัดเก่า (ปัจจุบันบ้านนายยอ – นางหน่อง) จึงร่วมใจกันสร้างกุฏิขึ้นมา ๑ หลัง (ปัจจุบันบ้านนายหนู – นางหมุ่ย) ซึ่งมีหลวงพ่อธรรม ( บุตรพ่อคุณหงษ์) บวชเณรจำพรรษาอยู่ โดยพ่อคุณหงษ์เมื่อว่างเว้นจากการทำนา (ด้านทิศตะวันออกโนนหอ นานายทอง – นางพิลาเก่า) ได้มาสอนหนังสือขอมให้สามเณรธรรมเป็นประจำจนได้อุปสมบท แล้วจึงย้ายกุฏิมาอยู่ที่วัดเก่า (บ้านนางโต้)

         ตามตำนานเล่าขานกันมาว่า พ่อคุณปลัด ท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ท่านจึงเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านให้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข เดิมทีท่านเป็นหลานของพระเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทร์ เนื่องจากท่านไม่ชอบทำสงคราม รบทัพจับศึกกับใคร จึงแยกย้ายจากญาติพี่น้องออกมาหาความสงบ เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการปกครองผู้คน เป็นผู้วางแผนพัฒนาหมู่บ้าน ให้เจริญรุ่งเรืองจนได้เป็นปลัดหมู่บ้านและปลัดแขวง ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงกำหนดให้ชาวไทยทุกคนมีนามสกุลใช้กันทุกครอบครัว ลูกหลานของพ่อคุณปลัดจึงเป็นต้นกำเนิดของนามสกุล “ กุลวงศ์ ” นับแต่นั้นมา

– ตระกูล “หงษ์เวียงจันทร์” นั้น สืบสายโลหิตมาจาก พ่อคุณหงษ์ – แม่คุณอ่ำ ที่มีเครือญาติ ลูกหลานสืบทอดวงศ์ตระกูลสืบต่อกันมา รวมทั้งครอบครัวของพ่อคุณผา – แม่คุณชา เป็นตระกูลที่ใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านดอนคาแห่งนี้

– ตระกูล “เหมเวียงจันทร์” สืบทอดมาจากครั้งที่อพยพมาจากเวียงจันทร์เช่นกัน เป็นตระกูลมั่งคั่ง เป็นนายฮ้อยที่ค้าขาย ช้างม้า วัวควาย เป็นอาชีพ ฐานะดีมีผู้คนนับหน้าถือตา

– ตระกูล “นนท์ช้าง” สืบสายโลหิตมาจากตระกูลหงษ์เวียงจันทร์ ได้สมรสกับตระกูลอื่น ลูกหลานเกิดมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดนนท์ช้าง ท่านจึงเป็นต้นตระกูล “นนท์ช้าง” สืบมา

         ส่วนตระกูลยศวิชัย, ตุ่มศรียา, ปลัดม้า, นนท์แก้ว, และพันธ์จันทร์ ล้วนเป็นตระกูลเก่าแก่ที่มีประวัติสืบทอดกันมา เป็นผู้ประกอบคุณงามความดีจนได้รับแต่งตั้งให้มียศมีตำแหน่งในสมัยก่อน เมื่อทางการกำหนดให้มีนามสกุลใช้ ลูกหลานจึงนำตำแหน่งยศฐาบรรดาศักดิ์ของบรรพบุรุษมาตั้งเป็นอนุสรณ์และความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของตน

          ในปัจจุบัน หน้าบ้านนายชาติ นางสวงค์ โดยมีสะพาน จากบ้านนายมาเลียม ถึงบ้านนางโต้ ตรงบ้านนางสมคิด หนูทอง จะเป็นสะพานสูงให้เรือลอดมาฝั่งวัดโภคาราม มีสะพานตรงบ้านนายสันต์ – นางวัฒนา ยาวไปถึงบ้านอาจารย์ประทีป (ตรงตลาดน้อย) เป็นอ่าวกว้างน้ำลึก เรือผ่านหน้าบ้านนางมาลัยไปฮ่อมหลังตลาด มีห้องแถว ๔๐ ห้อง (ถนนหน้าโรงสีณรงค์เพิ่มพูนชัย) เรือวิ่งผ่านไปข้างบ้านนายสิลา- เลียง ไปบ้านหนองหมู เรื่อยไปจนถึงบ้านขาม

         การกินการอยู่ ส่วนมากจะชอบทานปลาร้า ปลาส้ม น้ำพริก ต้มผักจิ้ม ผักสวนครัวก็จะปลูกเองเป็ดไก่ ก็จะเลี้ยงไว้ ปูปลาก็หากินง่าย พอได้มาก็ใส่เกลือตากแดดไว้กินตอนหน้าแล้งประชากรมีน้อย บ้านก็อยู่ห่างกัน ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าซ น้ำมันระหุ่งบ้าง หุงข้าวก็ใช้ฟืน ถ่าน ส่วนเตาก็ใช้ดินเหนียวปั้น หม้อก็หม้อดินเผา ช้อนใช้เปลือกหอยกาบ กระลามะพร้าวนำมาเป็นกระบวยตักน้ำ ใช้ไม้ไผ่มาสานเป็นชะลอมตักน้ำ ทาน้ำมันยาง ซึ่งก็นำมาจากต้นยาง กระบอกไม้ไผ่หรือน้ำเต้าที่นำเอาเมล็ดออกปล่อยให้แห้งนำมาเป็นที่ใส่น้ำ เพื่อที่จะนำติดตัวไปไร่ไปนา ใช้ใบตองห่อข้าวไปไว้ทานคนละห่อ ถ้าไปหลายคนก็ต้องทำหลายห่อเพราะตอนนั้นไม่มีปิ่นโต

          สมัยนั้นถ้าใครอยากมีที่ดินทำมาหากินมากๆ ก็ต้องจับจองเอาเองโดยการ บุกป่าบุกดงหวดถางป่า ถ้าใครถางได้มากพื้นที่ตรงนั้นจะเป็นของตนเอง ถ้าใครมีความขยันมากก็จะได้เยอะ คนในครอบครัวเขาก็จะไปช่วยกันหวดถาง การทำงานนั้นก็เหมือนแข่งกันทำ

          การทำนาทำกันปีละครั้ง ชาวบ้านมักเรียกกันว่านาปีหรือนาน้ำฝน ไถนาใช้ควายไถ หว่านข้าว ดำนา เกี่ยวข้าว จะลงแขกทำ หลังเก็บเกี่ยวเสร็จจะใช้ควายเยียบย่ำเมล็ดข้าวออกจากรวงใช้คันสายเขย่าให้เมล็ดหลุดออกจากรวง กวาดเป็นกองเพื่อที่จะใช้กาบสาด สาดให้เมล็ดที่ลีบๆ ออกให้เหลือแต่เมล็ดที่เต็มๆไว้ เสร็จแล้วใช้เกวียนเข็นเข้ายุ้ง ไว้ทำนาครั้งต่อไปหรือเก็บไว้สีเป็นข้าวสาร

          การทำไร่ยังไม่มีรถช่วยก็ใช้จอบและเสียมทำ ไร่รกก็ใช้มีดหวดถางจนเกลี้ยง บางบ้านปลูกฝ้าย ปลูกระหุ่ง เพื่อที่จะนำไปขาย เอาเงินมาใช้จุนเจือครอบครัว ฝ้ายที่ปลูกถ้าไม่ขายจะนำมาปั่นเป็นเส้นด้าย เพื่อที่จะนำมาทอเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม ไปไร่ต้องเดินไปบุกป่าหวดถางทางไปเรื่อยจนถึงไร่ ไปไร่ไปนาแต่เช้าตรู่ ถ้าไปสายก็ไปไม่ทันเพื่อนบ้าน กว่าจะกลับก็มืดค่ำโน้นแหละ แต่ต้องมีคนเฝ้าบ้านอีก ตกมืดค่ำก็นอนกันเงียบ เพราะเหน็ดเหนื่อยจากการทำนา และก็กลัวพวกโจรจะมาขโมยวัวควายของตนต้องคอยดูตลอดเวลากลางคืนก็ออกบ้านไม่ได้ พวกโจรจะเอาผ้าแดงโพกหัวเป็นที่หน้ากลัวมาก บ้านน้อยหลังและปลูกห่างกันไฟฟ้าก็ไม่มีใช้

          ถึงหน้าฝน ฝนตกแรงๆ น้ำป่ามาก็จะท่วมบ้านเรือน การเดินทางก็ไม่สะดวกต้องใช้เรือโดยสาร บ้านไหนไม่มีเรือจะใช้ต้นตาลทำเรือแทนไม่ใช้เรือก็กลัวสัตว์เลื่อยคลานที่มากับน้ำลำบากต่อการไปทำไร่ทำนาน้ำท่วมก็จะทำนาไม่ได้ บ้านไหนหว่านข้าวแล้วหรือกำลังใกล้จะเก็บเกี่ยวจะทำให้เสียหาย ต้องใช้เรือพายไปและลงแขกเกี่ยวข้าวน้ำท่วมกัน ท่วมทีหนึ่งจะเป็นอาทิตย์กว่าจะแห้ง เด็ก ๆ จะเจ็บป่วยกันในช่วงฤดูฝน ยาก็ไม่มีทาน มีเพียงหมอโบราณที่เก่งทางด้านยาสมุนไพร ถ้าคนไหนท้องใกล้จะคลอดก็จะไปหาหมอตำแย หรือตามหมอตำแยมาทำคลอดให้ที่บ้าน การแต่งกายในอดีตนั้นจะมีแตกแยกกันไป ผู้ชายส่วนมากจะนุ่งกางเกงหัวปก เสื้อสีดำ ผู้หญิงนุ่งโจงกระเบน ( ผ้าเตี่ยว) ผ้ารัดอก บางคนก็นุงเสื้อคอกระเช้า เด็กๆจะไว้จุก ผมโก๊ะ ผมแกละ หรือโกนผมบ้าง คนแก่จะทานหมากกัน ส่วนมากจะใช้ตะบันหมากตำ ก็จะมีพลูแห้งหรือพลูสดก็ได้แล้วแต่จะชอบ หมาก ปูน เปลือกไม้ จะใช้ยาสูบถูฟัน ตอนนั้นยังไม่มีแปลงสีฟันก็ต้องใช้ใบข่อยสีฟันแทน การแต่งการไปวัดก็จะแต่งกันธรรมดาและเสื้อผ้าจะสะอาดหน่อย ถ้ามีงานประเพณีต่างๆหรือเทศกาลต่างๆ ตอนเช้าคนหนุ่มสาวผู้เฒ่าผู้แก่เขาจะไปทำบุญตักบาตรกันที่วัด พอกลับมาสายๆหน่อย เขาก็จะมารวมตัวกันทำขนม การทำขนมส่วนมากในยุคนั้น ก็คือ ขนมลอดช่อง ขนมประกริมไข่เต่า ขนมเปียกปูน ขนมครก ขนมขี้หนู ข้าวต้มมัด กล้วยแขก และขนมเทียน เขาก็จะใช้ใบตอง ใบจานห่อ การละเล่นของเด็ก ๆ ในสมัยนั้นก็มีอยู่หลายอย่าง เช่น รถม้าชาวเสียม กระโดดเชือก แข่งตะขาบ มอญซ่อนผ้า ตี่จับ เสือกินวัว งูกินหาง รีรีข้าวสาร ลูกช่วง วิ่งช้างศึก กาฟักไข่ วิ่งชิงธง (วิ่งวัว) เล่นฟันดาบ เล่นขายของ และเล่นซ่อนหา เป็นต้น

          มีการพัฒนาหมู่บ้านมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีประชากรเพิ่มมากขึ้น มีผู้นำไฟฟ้าเข้าบ้านดอนคา ก็คือ ท่านอาจารย์ประทีป เสร็จกิจ ( พ.ศ.2521 ) มีการก่อสร้างโรงเรียนวัดโภคารามขึ้นมา (เป็นโรงเรียนวัด) เด็ก ๆ มีความรู้มากขึ้น มีกระเป๋งตักน้ำใช้แทนชะลอมเพื่อตักน้ำใส่ตุ่มไว้กินไว้ใช้ น้ำชาวบ้านจะไปตักจากวัดแล้วหาบมาจนถึงบ้าน

          อยู่มาไม่นานก็มีโทรทัศน์แต่จะเป็นโทรทัศน์ขาว – ดำ บ้านไหนที่มีฐานะดีก็จะมีโทรทัศน์ดู มีการปรับปรุงถนนหนทางให้มีความสะดวกสบาย หวดถางหญ้าที่รกๆ ออกทำเป็นถนนหนทาง ปลูกต้นไม้ดอกไม้ พัฒนาหมู่บ้านของตนเอง บ้านเรือนมีเพิ่ม มีหมอโบราณประจำหมู่บ้านมาคอยรักษาชาวบ้านที่ป่วย การทำไร่ทำนาก็ได้พัฒนามีรถไถมาช่วยทำนาปีละ 2 ครั้ง เรียกนาปีหรือนาปรัง ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ขุดลอกคูคลองเพื่อที่จะได้เก็บน้ำไว้ใช้ในยามทำนามีรถอี่แต๋นขับกัน บ้านเรือนแต่ละหลังเริ่มมีฐานะ ได้ปลูกกล้วย ปลูกมะม่วง มะพร้าว ไว้กินไว้ขายกัน ได้มีเสื้อผ้าแปลกๆใหม่ๆผู้หญิงใส่ผ้าถุงก็มาใส่กางเกงบ้างเป็นบางคน เด็กๆ เคยแก้ผ้าโถง ๆ ก็มีกางเกงใส่ 15 – 16 ปียังไม่เป็นหนุ่มเป็นสาวเลย ก็เริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาวรู้จักการแต่งตัวมากขึ้นมีกางเกงยีนต์มีเสื้อคอปก มีวิทยุเข้ามา มีนาฬิกาใส่ ข้าวสารก็ไม่ได้ตำกินเองได้มีโรงสีข้าวเปลือกไม่ได้ใช้ร่อนแต่ใช้สีโบกแทน อาหารการกินก็ดีขึ้น มีคนจีนเข้ามาอยู่ จึงมีหมู เห็ด เป็ด ไก่ เข้ามาขาย มีการตั้งร้านค้าบ้าง ขายแบบถูก ๆ ตัวอย่างเช่น หมูราคาเพียงตัวละ 2 บาท ชาวบ้านเริ่มเลี้ยงสัตว์ จำพวก หมู ไก่ เป็ด เป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวและหมู่บ้านและต่อมาเศรษฐกิจก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ของซื้อของขายก็แพงขึ้น

          มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมีรถจักยานยนต์ขี่ บ้านที่มีฐานะก็จะซื้อให้ลูกชายขี่ เพื่อไปหาสาวๆ ชวนกันไปเที่ยวตามงานวัด แต่ไม่ได้ไปเพียง 2 คน มีผู้ใหญ่ไปด้วย เมื่อถึงประเพณีบวชนาค ประมาณเดือน 4 ถึงเดือน 7 บ้านไหนมีลูกชายครบอายุที่จะบวชคือ อายุ 20 ปี ก็จะมาบอกบุญกันไปช่วยกันทำขนม หนุ่ม ๆ สาวๆ ก็จะทำขนมจีนกัน คนแก่ก็จะทำอาหารเพื่อที่จะเลี้ยงญาติพี่น้องในตอนเย็นพอเช้ามาเขาก็พานาคไปอุปสมบทที่วัดในยุคนั้นจะมีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาประมาณปี ละ 30 กว่ารูป สามเณรอีกประมาณ 8-9 รูป การบวชนาคถือเป็นประเพณีที่สนุกสนานมากเพราะเป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่ การแต่งงานในสมัยนั้น ก็จะเรียกสินสอดกันเพียง 2,000 บาท ก็ถือว่าแพงแล้ว เขานิยมมีลูกมากเพื่อที่จะทำงานช่วยกันบางคนที่มีฐานะหน่อยก็จะส่งลูกเรียนสูง ๆ การศึกษาตอนนั้นสูงสุดระดับ ป. 7 การจบการศึกษาในยุคนั้นแค่ ป.7 ก็ทำงาน หรือรับราชการต่าง ๆได้แล้วถ้าจะเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ต้องไปเรียนที่โรงเรียนอู่ทองเท่านั้น ประมาณ 20 ปี ผ่านไปก็ได้ก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาระดับชั้นม. ต้น ได้ 3 ปี ก็มีชั้น ม. ปลาย. เด็กๆมีการศึกษาสูงขึ้นเรียนถึงระดับชั้นปริญญาได้มีการขยับขยายครอบครัวได้ไปทำงานไปเรียนมีงานเทศกาลวันหยุดก็กลับมาบ้านทีหนึ่งคนที่ทำงานแล้วมีเงินเดือนก็จะเอาเงินมาให้พ่อแม่บ้าง บางคนที่ไม่ได้เรียนมีครอบครัวก็จะอยู่ทำงานช่วยพ่อช่วยแม่ทำงานส่วนตัวบางเช่นปัจจุบันนี้นิยม รับจ้าง เย็บผ้า เจียระในพลอย เลี้ยงสัตว์เป็นต้น

          ถนนสายอู่ทอง – สระกระโจม เดิมที กำนัน – ผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้นขอแรงชาวบ้านช่วยกันขุดบ่อกันบ้านละบ่อไปทางหนองปล้อง (ทางท่าเสด็จเก่า) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ หลวงพ่อเงินจึงให้พระภิกษุสามเณรสมัยนั้น ช่วยกันขุดทำทางถนนจากหน้าวัดไปบ้านลุงเจิ้ม เข้าบ้านใหม่ โดยขอร้องชาวบ้านให้มาช่วยกันขุดบ้านละบ่อ

          ตลาดนัดวัดเก่า กำนันวิเลิศ พันธุ์จันทร์ เอาดินมาถมจะปลูกอาคารที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา ท่านเจ้าอาวาสเห็นว่ามันคับแคบไม่มีที่จอดรถ จึงให้ไปถมที่นาวัด (ที่ตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล และสถานีอนามัยในปัจจุบันนี้) เป็นที่นาที่ได้รับบริจาคมาจาก ป้าตา ลุงจวง เป็นพี่น้องกัน ท่านไม่มีบุตร จึงยกที่นาผืนนี้ให้กับหลวงพ่อเงินเป็นสมบัติของวัดโภคาราม

          ตำบลดอนคา ได้ยกระดับการปกครองเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตาม พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙